เป็นชื่อตำแหน่งในสมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระมหินราธิราช พระยารามผู้นี้ รับหน้าที่ปกป้องกรุงศรีอยุธยาจากการโจมตีของฝ่ายหงสาวดี พระยารามผู้นี้มีความจงรักภักดีต่อกรุงศรีอยุธยาทำการป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็งเต็มกำลังฝีมือทำให้ฝ่ายหงสาวดีไม่สามารถพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้ง่ายดังที่วางแผนไว้
การสู้รบผ่านไป 7 เดือนพระเจ้าบุเรงนองได้ปรึกษากับสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งพิษณุโลกที่ขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับฝ่ายหงสาวดีว่าจะทำเช่นไรจึงจะพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้ สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ทรงให้คำแนะนำว่า การที่กรุงศรีอยุธยายังคงตั้งรับได้อย่างเข้มแข็งนั้นก็เพราะมีพระยารามเป็นผู้ควบคุมกองทัพป้องกันพระนคร ถ้ากำจัดพระยารามได้ ก็เห็นจะพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้วางแผนเสนอให้ฝ่ายอยุธยาส่งตัวพระยารามมาให้แก่ฝ่ายหงสาวดีแล้วจะหยุดโจมตีและจะได้เป็นพันธมิตรกัน
ฝ่ายสมเด็จพระมหินทราธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาเห็นดังนั้นจึงปรึกษากับขุนนางทั้งหลาย พระยารามจึงกราบทูลว่า “ถ้าบ้านเมืองจะสงบสุขได้ด้วยวิธีนี้ ตัวเองก็จะยอมเสียสละ” สมเด็จพระมหินทราธิราชและขุนนางทั้งปวงต่างเห็นด้วยกับการตัดสินใจของพระยาราม
สมเด็จพระมหินทราธิราช จึงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชให้ออกไปเจรจาขอเป็นไมตรี พร้อมทั้งให้ข้าราชการผู้ใหญ่นำตัวพระยารามออกไปถวายพระเจ้าบุเรงนอง
แต่หลังจากที่ส่งพระยารามไปให้แก่ฝ่ายหงสาวดีแล้ว ก็ไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้ มิหนำซ้ำยังส่งคนมาเจรจาว่าให้สมเด็จพระมหินทราธิราชออกไปถวายบังคมแล้วจะเป็นพันธมิตรด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้แม่ทัพนายกองฝ่ายกรุงศรีอยุธยารู้สึกโกรธแค้นที่ฝ่ายหงสาวดีไม่ทำตามที่สัญญาไว้ และต่างเสนอตัวขอสู้กับฝ่ายหงสาวดีให้ถึงที่สุด แม้คราวนี้สมเด็จพระมหาธรรมราชาอาสาพระเจ้าบุเรงนองว่าจะมาขอเจรจากับฝ่ายอยุธยาด้วยตัวเอง แต่ฝ่ายอยุธยาไม่ต้อนรับสมเด็จพระมหาธรรมราชาอีกแล้ว จึงได้โจมตีสมเด็จพระมหาธรรมราชา